จากเหตุการณ์เรือที่บรรทุกน้ำตาลหนัก 2,400 ตัน ได้ชนตลิ่งที่บริเวณหมู่ 2 ตำบลภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเรือจมลงในแม่น้ำ นอกจากกระแสน้ำจะเปลี่ยนทิศทางแล้ว น้ำตาลที่ละลายยังเป็นอาหารของจุลินทรีย์พันธุ์ร้ายในน้ำ ที่มากินแล้วเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนค่าออกซิเจนในน้ำลดต่ำลง ถึงระดับที่ปลาและสัตว์น้ำหลายชนิดอยู่ไม่ได้ จนตายกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายหน่วยงาน ได้ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหาให้สถานการณ์ดีขึ้นมาโดยตลอด
สิ่งที่คนไทยคนหนึ่งอย่างเรา ที่เป็นกลุ่มอาสาสมัคร คิดและทำกันในวันนี้คือ ลองหารือกันแล้วว่าเมื่อน้ำตาลจมลงไปในน้ำกว่า 2,400 ตัน แม้จะดูดขึ้นมาได้บางส่วน แต่ส่วนที่ละลายเราจะทำอย่างไรกันดี พวกเรามีกำลังน้อยแต่ก็อยากจะขอมีส่วนร่วม แบบคนละไม้คนละมือ จึงได้คิดโครงการ “คืนชีวิตให้แม่น้ำ - Save The River” มาเพื่อชักชวนกันคืนชีวิตให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา ทางหนึ่งคือการเติมออกซิเจนให้กับแม่น้ำ โดยเริ่มจากการติดต่อ อาจารย์มนัส หนูฉวี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย ที่มีประสบการณ์จากการดูงานที่ญี่ปุ่นมาแล้ว 4 ครั้ง และทำจนประสบความสำเร็จในไทยมาแล้วหลายแห่งเช่น ชุมพร, ทะเลสาบสงขลา,ปัตตานีและที่เกาะสมุย เมื่ออาจารย์ทราบเรื่องจึงได้ติดต่อเครือข่ายที่ทำงานอยู่จากจังหวัดต่างๆ เพื่อนำ EMBall บอลจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียมาร่วมโครงการ โดยมาจากอาจารย์เฉลียว ปานเนียม ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ หนองหญ้าไซ ก่อน 1 ตัน จำนวน 5,000 ลูก และจากชุมพรกับเกาะสมุยอีก 4 ตัน และได้ดำเนินการชักชวนเพื่อนๆในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ให้ออกไปโยนลูกโบกาฉิ (EM Ball) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์พันธุ์พิเศษสำหรับแก้น้ำเสีย หวังว่าจะช่วยให้สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาเน่าเสียจากการที่เรือบรรทุกน้ำตาลล่ม ที่อยุธยาดีขึ้นบ้าง
โดยใช้งบประมาณจากการระดมทุนในกองทุนร้อยน้ำใจเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย มูลนิธิโอเพ่นแคร์ ซึ่งได้รับเงินบริจาคจากน้ำใจของภาคประชาชนและเอกชนหลายราย ดูแลกองทุนให้โปร่งใสตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ www.opencare.org โดย คุณตฤณ ตัณฑเศรษฐี
ทั้งอาจารย์มนัส หนูฉวี และ อาจารย์เฉลียว ปานเนียม ต่างมีประสบการณ์ในการบำบัดน้ำเสียจนประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย โดยเฉพาะที่เกาะพิทักษ์ จังหวัดชุมพร ที่ทะเลเน่าเสียก็ยังสามารถพลิกฟื้นกลับมาให้น้ำใสและมีปลาตลอดจนสัตว์น้ำกลับมาอาศัยได้อย่างมากมาย ทั้งสองท่านเคยเป็นวิทยากรมาแล้วหลายจังหวัดในประเทศไทยและในประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพนี้นิยมใช้กันมากในประเทศญี่ปุ่น ทำให้แม้น้ำลำคลองใสสะอาดมาแล้วมากมาย จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกับทีมอาสาดุสิต ซึ่งมีผลงานอาสาเป็นที่ประจักต์และทีม Kapook.com / ThaiFlood.com ซึ่งสามารถเปิดเป็นประเด็นในสื่อออนไลน์ได้อย่างกว้างขวาง และเชิญชวนให้เกิดแนวร่วมมาสร้างสรรค์กันให้มากยิ่งขึ้น
กำหนดการโยนบอลบำบัดน้ำเสีย ครั้งแรกจึงเริ่มในเช้าวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2554 เวลา 10.30 น. โดยได้โยนไปแล้ว 1 ตัน ที่โค้งน้ำหน้าวัดไก่เตี้ย ก่อนถึงคลองประปา 500 เมตร และในเช้าวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2554 เวลา 11.30 น. ได้โยนลงไปที่จุดที่เรือจม ห่างออกไปทางต้นน้ำราว 100 เมตร จำนวน 1.5 ตัน และเทหัวเชื้อจุลินทรีย์ลงไปด้วย
จึงขอตั้งเป้าหมาย คืนอ็อกซิเจนให้ธรรมชาติด้วยการเติมจุลินทรีย์บอลลงในแม่น้ำ 240 ตัน ! เพื่อให้จุลินทรีย์ได้มีโอกาสกินน้ำตาลเกือบ 2,400 ตันที่ละลายในน้ำเพื่อปลดปล่อยอ็อกซิเจน และปรับสภาพน้ำให้ดีขึ้นเพื่อให้โอกาสแก่ปลาและสัตว์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ได้ผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายมาแล้วได้พบกับสิ่งที่ดีๆบ้าง
ซึ่งการบรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมืออย่างกว้างขวาง จากผู้มีจิตอาสาทั่วประเทศ, CSR ภาคเอกชน, การช่วยเหลือจากภาครัฐโดยเฉพาะกำลังพล และพี่ๆสื่อมวลชนทุกท่านที่จะช่วยขยายเรื่องนี้ออกไปให้เป็นประเด็นสาธารณะ
ท่านสามารถร่วมบริจาคเพื่อคืนชีวิตให้กับแม่น้ำได้ที่บัญชี “มูลนิธิโอเพ่นแคร์กองทุนร้อยน้ำใจเพื่องานอาสาฟื้นฟูผู้ประสบภัย” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเซ็นทรัลพลาซ่า แจ้งวัฒนะ เลขที่บัญชี 402-177853-3 แล้วกรอกข้อมูลของท่านพร้อมตรวจสอบการใช้จ่ายได้ที่ www.opencare.org
*******************************************
Save the River Project สำรวจพื้นที่ @ 4 มิถุนายน 2554 @
Save the River คืนชีวิตให้เจ้าพระยา ช่วยปลา รักษา แม่น้ำ @ 6 มิถุนายน 2554 @
Save the River คืนชีวิตให้เจ้าพระยา ช่วยปลา รักษา แม่น้ำ @ 7 มิถุนายน 2554 @
ภาคีคืนชีวิตให้แม่น้ำ SAVE THE RIVER
ศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ThaiFlood.com) อาสาดุสิต (ArsaDusit.com) และ เครือข่ายรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน ภาคประชาชน (PS-EMC) มูลนิธิโอเพ่นแคร์ และอีกหลายองค์กร ผู้ร่วมสนับสนุนโครงการ "คืนชีวิตให้แม่น้ำ"
กรุณาแจ้งรายละเอียด ชื่อ นามสกุล หน่วยงาน สิ่งที่สนับสนุน และแนบภาพกับโลโก้และลิงค์เว็บไซต์มาด้วย (ถ้ามี) ทางโครงการจะนำรายชื่อมาเพิ่มในเว็บไซต์ www.kapook.com ที่มีผู้ชมมากกว่า 6 ล้านคนต่อเดือน เพื่อสร้างปิติให้กับผู้พบเห็นและช่วยกันเผยแพร่ให้ขยายผลการคืนชีวิตให้แม่น้ำมากยิ่งขึ้นต่อไป โดยส่งมาที่ savetheriverthailand@gmail.com |